วันเสาร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารกับบทบาทเสริมสมรรถนะองค์กร

พัฒนาการของสังคมมนุษย์ อดีตมนุษย์อาศัยอยู่ตามถ้ำและป่าเขา เร่ร่อน ล่าสัตว์ หาของป่าเป็นอาหาร หลังจากนั้นมนุษย์ได้เริ่มมีการรวมตัวและรู้จักการเพราะปลูก เกษตรกรรมทำให้สังคมมนุษย์เจริญขึ้น การสร้างเมืองและสังคมเมืองนำมาสู่ยุคอุตสาหกรรมการผลิต การผลิตทำให้เกิดการปฏิวัติทางอุตสาหกรรมที่เน้นการผลิตจำนวนมาก หลังยุคอุตสาหกรรมมนุษย์ได้ก้าวสู่ยุคสารสนเทศ ต่อมาการปฏิวัติเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสังคมมาสู่สังคมสารสนเทศ และส่งผลกระทบให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบสังคมโดยรวมไม่ว่าจะเป็นระบบเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การศึกษา ฯลฯ

หลังปี พ.ศ. 2530 เป็นต้นมา ระบบสื่อสารโทรคมนาคมและคอมพิวเตอร์ก้าวหน้ามาก ความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้เข้ามาเสริมปัจจัยขั้นพื้นฐานของการดำรงชีวิตได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาคิดค้นสิ่งอำนวยความสะดวกสบายต่อการดำรงชีวิต การสร้างที่พักอาศัยที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน เทคโนโลยีสามารถผลิตสินค้าและให้บริการต่างๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์มากขึ้น เพราะเทคโนโลยีทำให้ระบบการผลิตสามารถผลิตสินค้าได้เป็นจำนวนมากมีราคาถูกลง สินค้าได้คุณภาพ และเทคโนโลยีทำให้มีการติดต่อสื่อสารกันได้สะดวก เชื่อมโยงถึงกันทำให้ประชากรในโลกติดต่อรับฟังข่าวสารกันได้ตลอดเวลา

ปัจจุบันเรากำลังก้าวเข้าสู่ยุคทรัพย์สินทางปัญญา หน่วยงานและองค์กรต่างๆ ถูกขับเคลื่อนด้วยแรงงานความรู้ องค์กรต้องมีการจัดการความรู้อย่างเป็นระบบเพื่อสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ การเรียนรู้กลายเป็นสิ่งสำคัญที่องค์กรต้องมีการแสวงหา การสร้าง การจัดเก็บและการเปลี่ยนแปลงเรียนรู้ร่วมกัน

เทคโนโลยีสารสนเทศได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการช่วยจัดการความรู้และเสริมประสิทธิภาพการทำงานในองค์กร การพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศในการจัดเก็บและเผยแพร่ความรู้ให้กับพนักงานที่ต้องการความรู้ อย่างรวดเร็วและสามารถเข้าถึงความรู้ได้ทุกเวลาและทุกสถานที่ ช่วยให้พนักงานสามารถเรียนรู้ได้เร็วกว่าคู่แข่งและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

เทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology) หรือ IT หมายถึง การประยุกต์เอาความรู้ด้านวิทยาศาสตร์มาจัดการสารสนเทศที่ต้องการ โดยอาศัยเครื่องมือทางเทคโนโลยีใหม่ๆ ประกอบด้วยเทคโนโลยีแกนหลักสองสาขา ได้แก่ เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสื่อสารโทรคมนาคม กระบวนการดำเนินงานจัดการสารสนเทศ ตั้งแต่การเสาะแสวงหา การวิเคราะห์ การจัดเก็บ การจัดการ และการเผยแพร่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ความถูกต้อง ความแม่นยำ และความรวดเร็วทันต่อการนำไปใช้ประโยชน์ และเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์จะช่วยทำงานด้านการจัดเก็บ บันทึกและประมวลผลข้อมูลให้รวดเร็วและถูกต้อง ก่อให้เกิดความได้เปรียบทางการแข่งขัน และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น

การพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและเทคโนโลยีการสื่อสารก่อให้เกิดการปฏิวัติเทคโนโลยีที่ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรมและกิจกรรมระหว่างประเทศ เนื่องจากเทคโนโลยีสารสนเทศทำให้เกิดการกระจายข่าวสารไปยังท้องถิ่นต่างๆ ทั่วโลก คอมพิวเตอร์สามารถเชื่อมต่อกันได้ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ทำให้สามารถติดต่อสื่อสารแบบไร้ขีดจำกัดด้านพรมแดน และสามารถติดต่อสื่อสารกันโดยใช้โทรศัพท์คุยกันข้ามประเทศ ทั้งยังช่วยสนับสนุนการดำเนินงานขององค์กรและธุรกิจต่างๆให้ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ในด้านของการจัดเก็บข้อมูล การจัดการ การประมวลและวิเคราะห์เพื่อการตัดสินใจ และช่วยในการเผยแพร่และแลกเปลี่ยนข้อมูลทั้งภายในและภายนอกองค์กร

ด้านการทำธุรกิจ internet ได้กลายมาเป็นส่วนสำคัญในการทำงานและเพิ่มช่องทางการแข่งขัน เพราะช่วยอำนวยความสะดวกในการทำงานที่ไหน เมื่อไหร่ก็ได้ ไม่จำกัดเวลาและสถานที่ บริษัทธุรกิจต่างๆ ได้เห็นความสำคัญและมีการลงทุนใช้อินเตอร์เน็ตเข้ามาช่วยในการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น เพื่อใช้เป็นสื่อกลาง เป็นช่องทางที่เข้าถึงลูกค้าได้โดยตรง การพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์หรืออีคอมเมิร์ซ(e-commerce) หรือระบบการซื้อขายสินค้าและบริการผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ทำให้เกิดการปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าโดยตรง ไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง เช่น การใช้อินเตอร์เน็ตในการซื้อตั๋วเครื่องบิน ตั๋วรถไฟออนไลน์ การสร้างโฮมเพจหรือเวบเพจของผู้ประกอบการธุรกิจต่างๆ เพื่อเปิดร้านค้าออนไลน์ให้ลูกค้าเข้ามาดูรายละเอียดของสินค้าและสามารถสั่งซื้อสินค้าได้โดยตรง

ปัจจุบันระบบเศรษฐกิจกำลังก้าวเข้าสู่ยุคทรัพย์สินทางปัญญาหรือระบบเศรษฐกิจใหม่ การพัฒนาของประเทศต่างๆ จะถูกพิจารณาจากการมีทรัพย์สินทางปัญญาว่ามีอยู่มากน้อยเพียงใด ประเทศ หน่วยงานและองค์กรต่างๆ ถูกขับเคลื่อนด้วยแรงงานความรู้ การแข่งขันทางการค้าไม่ได้ถูกผลิตและป้อนตลาดแค่ภายในประเทศ ความอยู่รอดขององค์ต้องการการทุ่มเททั้งกำลังกาย กำลังความคิด และกำลังใจ จากคนหรือทรัพยากรมนุษย์

การบริหารงานในอนาคตจะผลิตสินค้าและบริการเพื่อสนองเฉพาะตลาดภายในประเทศอย่างเดียวไม่ได้ต้องมองถึงตลาดโลก เพราะจะมีคู่แข่งจากภายนอกประเทศเข้ามาแย่งตลาด คุณภาพสินค้าไม่ได้ขึ้นอยู่กับรูปลักษณ์ภายนอกและความคงทนของสินค้าอย่างเดิม คุณภาพสินค้ายังขึ้นอยู่กับองค์ประกอบภายนอกเช่น ไม่ทำลายสภาพแวดล้อม ประหยัดพลังงาน และเป็นสินค้าที่ไม่สามารถลอกเลียนแบบได้ ดังนั้นเพื่อความอยู่รอดขององค์กรลักษณะขององค์กรที่มีประสิทธิภาพในอนาคตจึงต้องมีลักษณะที่แตกต่างกับองค์กรที่เป็นอยู่ คือ ประสิทธิภาพโดยรวม ต้องเป็นองค์กรที่มีเป้าหมายเป็นองค์กรระดับโลก มีความคล่องตัวสูงและปรับตัวไว ลักษณะโครงสร้างองค์กร เน้นการกระจายอำนาจ วัฒนธรรมองค์กรเป็นปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จและความล้มเหลวขององค์กร และระบบสารสนเทศ ภายในองค์กรต้องมีการนำเอาคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้เชื่อมโยงกับระบบข่าวสาร และมีการรวมเอาการวางแผนและกระบวนการทำงานเข้าไว้ด้วยกัน

อนาคตโลกจะเข้าสู่ยุค นิเวศอิเล็กทรอนิกส์ (Digital Ecosystem)” บนสังคมเศรษฐกิจฐานความรู้ คือมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงานของมนุษย์ให้ทำงานร่วมกันเป็นทีมหรือเป็นกลุ่มและมีการเชื่อมโยงข้อมูลข่าวสารและสารสนเทศระหว่างกลุ่ม จะมีลักษณะกลุ่มแบบกลุ่มเสมือน (Virtue) และจะก้าวสู่ นิเวศอิเล็กทรอนิกส์ ในที่สุด ซึ่งจะก่อให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างกันมากขึ้นของหน่วยงานและระหว่างองค์กร เกิดการใช้ทรัพยากรและเทคโนโลยีมากขึ้น การวิจัยและพัฒนาจะนำมาซึ่งการสร้าง นวัตกรรม(Innovation)” ใหม่ๆ ทำให้คนในองค์กรต้องทำงานร่วมกันและสื่อสารระหว่างกันมากขึ้น และเทคโนโลยียังช่วยให้สามารถเข้าถึงองค์ความรู้ต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้น

การพัฒนาของระดับการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ตั้งแต่การใช้อีเมล์เพื่อติดต่อสื่อสารระหว่างกันทั้งภายในและภายนอกองค์กร จนถึงการใช้เว็บไซต์เพื่อเป็นการให้ข้อมูลและสารสนเทศจากผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder) ต่างๆ ขององค์กร และก้าวเข้าสู่ระบบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ที่มีการซื้อ-ขายสินค้าและบริการผ่านระบบอินเทอร์เน็ต หลังจากนั้นองค์กรมีการขยายฐานของการทำธุรกิจและธุรกรรมบนอินเทอร์เน็ตมากยิ่งขึ้น ก่อให้เกิด “e-Business” คือการใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์เพื่อธุรกิจมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพและและประสิทธิผลในการค้าและธุรกิจ อีกทั้งก่อให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ลูกค้า เพิ่มระดับของห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) แก่ธุรกิจ และหลังจากนั้นได้มีการเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างองค์กรจนสามารถทำธุรกิจและประสานงานซึ่งกันและกันที่เรียกว่า องค์กรเสมือน (Virtual Enterprise)” คือองค์กรที่เกิดขึ้นบนพื้นฐานของระบบเครือข่าย (Networking) ไม่ได้มีที่ตั้งอย่างเป็นรูปธรรม หากแต่สามารถประกอบธุรกิจได้อย่างดีและมีประสิทธิภาพ จนในที่สุดมีการเชื่อมโยงองค์กรเสมือนหลายๆ องค์กรเข้าด้วยกันจนก่อให้เกิด ระบบนิเวศอิเล็กทรอนิกส์ (Digital Ecosystem)” ที่มุ่งเน้นการเปลี่ยนแปลงความรู้ระหว่างองค์กร ซึ่งมีลักษณะขององค์กรที่มีการปรับตัวอยู่ตลอดเวลาเพื่อสามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจ และสามารถดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืนต่อไป
รูปแบบการทำงานในอนาคตนั้น จะเน้นการทำงานบนพื้นฐานของการใช้ข้อมูลสารสนเทศ และความรู้ในการตัดสินใจในการทำงานและดำรงชีวิตประจำวัน ดังนั้นจะต้องมีการเตรียมความพร้อมของตนเอง เพื่อก้าวสู่อนาคตในโลกของการทำงานบนพื้นฐานของความเป็นจริง หากเรามองภาพในอนาคตจะพบว่าโลกของอนาคตนั้นจะเป็นการรวมตัวของการสื่อสารทุกชนิดไว้เป็นหนึ่งเดียว เช่น เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตรวมกับเทคโนโลยีโทรศัพท์มือถือ ซึ่งจะมีการเตรียมโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการติดต่อสื่อสารด้วย
Internet Broadband ไว้เกือบทุกๆ ที่ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัย ห้องสมุด สถานที่ทำงาน รถไฟฟ้าใต้ดิน หรือห้างสรรพสินค้า เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงคลังข้อมูลขององค์กรได้ทุกที่ทุกเวลา ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำให้วัฒนธรรมการทำงานของคนเปลี่ยนไป

การก่อกำเนิดของเทคโนโลยีได้ส่งผลทำให้สังคมเกิดการเปลี่ยนแปลงและกลายเป็นส่วนสำคัญในการทำงาน และเข้ามาเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในการติดต่อสื่อสาร การตอบสนองความต้องการ และอำนวยความสะดวกต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอินเทอร์เน็ต โทรศัพท์เคลื่อนที่ ฯลฯ อย่างไรก็ดีถึงแม้เทคโนโลยีสารสนเทศจะก่อประโยชน์อย่างมากมายมหาศาลต่อระบบการทำงานและการติดต่อสื่อสาร สิ่งที่ควรตระหนักคือ ความรับผิดชอบต่อสังคม และ คุณธรรมและจริยธรรมในการใช้เทคโนโลยี ผู้ใช้จะต้องใช้เทคโนโลยีเพื่อก่อประโยชน์ต่อตนเอง ต่องาน ต่อองค์กร และต่อสังคมในด้านบวก ต้องคำนึงถึงความรับผิดชอบและผลกระทบของการใช้เทคโนโลยีต่างๆ ที่จะมีต่อสังคม



เอกสารอ้างอิง

[1] ผศ. ดร. พรรณี สวนเพลง เขียน ; เทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรมสำหรับการจัดการความรู้

[2] http://www.school.net.th/library/snet1/network/it/index.html รวบรวมจาก หนังสือเรียนวิชาคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศพื้นฐาน ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

[3] รศ. ดร. ไพบูลย์ เกียรติโกมล และ ผศ. ดร. ณัฎฐพันธ์ เขจรนันทน์ เขียน ; ระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการ(Management Information Systems)

[4] www.dopa.go.th/iad/subject/it2.doc ; กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย

[5] http://www.spu.ac.th/ktm/chapter13.html ; หนังสือเรียนวิชา ระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการ คณะสารสนเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม

[6] อ.ชลภัสส์ วงษ์ประเสริฐ เขียน ; เอกสารประกอบการเรียนการสอนทางอินเตอร์เน็ต ครั้งที่ 1 วิชา ITM 628 การจัดการความรู้ ; คณะการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยรังสิต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น