วันเสาร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

อินเทอร์เน็ตและแนวโน้มการพัฒนาในอนาคต

ปัจจุบันอินเทอร์เน็ตนับว่าเป็นเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ที่มีความเจริญเติบโตรวดเร็วที่สุด จำนวนของผู้ใช้และจำนวนของเว็บไซต์ (Web sites) ที่นับว่าเป็นส่วนสำคัญของอินเทอร์เน็ต ซึ่งสามารถนำเสนอข้อมูลในรูปของสื่อประสม (multimedia) ก็มีอัตราการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นกัน

อินเทอร์เน็ต ได้กลายเป็นเครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่ครอบคลุมไปทั่วโลก พร้อมกับมีข้อมูลมหาศาล ทุกประเภท สำหรับบริการให้ค้นคว้า และรับส่งข้อมูลไปมาระหว่างกันได้ ผู้ที่ใช้คอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่อกับระบบอินเทอร์เน็ตสามารถใช้บริการต่างๆ ที่มีอยู่ในระบบไม่ว่าจะเป็น
ด้านการศึกษา เราสามารถใช้สืบค้น ค้นคว้าหาข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรม ศิลปกรรม สังคมศาสตร์ กฎหมาย ข้อมูลทางวิชาการ บทความงานวิจัยจากที่ต่างๆ อินเตอร์เน็ตทำหน้าที่เหมือนห้องสมุด บริการส่งข้อมูลที่เราต้องการมาให้ถึงที่บ้าน ที่ทำงานโดยที่เราไม่ต้องเดินทาง

อินเทอร์เน็ตยังช่วยอำนวยความสะดวกในด้าน
การรับส่งข่าวสาร เราสามารถรับส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-mail กับผู้ใช้คนอื่นๆ ทั่วโลก ในเวลาอันรวดเร็ว ในรูปแบบต่างๆ เช่น แฟ้มข้อมูล รูปภาพ ข้อมูลแบบมัลติมีเดีย ที่เป็นภาพและเสียงโดยเสียค่าใช้จ่ายต่ำมาก

สำหรับด้านธุรกิจและการค้า อินเทอร์เน็ตได้เข้ามามีบทบาทในเรื่องของ
การค้าอิเล็กทรอนิกส์หรืออีคอมเมิร์ซ(e-commerce) ช่วยทำให้เกิดการปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าโดยตรง ไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง ลูกค้าสามารถเลือกดูสินค้า สั่งซื้อ และจ่ายเงินด้วยบัตรเครดิตหรือตามเงื่อนไขของธุรกิจร้านค้านั้นๆ ได้ทันที นับว่าเป็นความสะดวกสบาย และรวดเร็วมาก สินค้าก็มีจำหน่าย ทุกประเภท และเปิดบริการตอลด 24 ชั่วโมง
ประโยชน์ของอินเตอร์เน็ตยังมีอีกมากมายทั้งบริการความบันเทิง และการพักผ่อนหย่อนใจ หรือสันทนาการ เช่น เลือกอ่านวารสารต่างๆ ผ่านอินเตอร์เน็ต ที่เรียกว่า magazine แบบ online หรือจะดูหนัง ฟังเพลง ฯลฯ ก็สามารถค้นหาได้จากอินเทอร์เน็ต

ด้วยคุณประโยชน์ที่สามารถตอบสนองความต้องการที่หลากหลาย ช่วยอำนวยความสะดวกสบาย รวดเร็ว และประหยัด อินเทอร์เน็ตจึงเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของผู้คนไม่ว่าจะเป็นชีวิตส่วนตัวหรือที่ทำงาน อินเทอร์เน็ตได้เพิ่มความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ทุกสิ่งทุกอย่างในวิถีชีวิตของผู้คนจึงมารวมอยู่ที่จุดเดียวคือ บริการผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต

ความหมายของอินเทอร์เน็ต
อินเทอร์เน็ต คือ ระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งเกิดจากระบบคอมพิวเตอร์เครือข่ายย่อย ๆ หลาย ๆ เครือข่ายรวมตัวกันเป็นระบบเครือข่ายขนาดใหญ่ ซึ่งขยายความได้ดังนี้ คือ การที่คอมพิวเตอร์ตั้งแต่ 2 เครื่องขึ้นไป สามารถติดต่อสื่อสารซึ่งกันและกันได้โดยผ่านสาย Cable หรือ สายโทรศัพท์ ดาวเทียม ฯลฯ การติดต่อนั้นจะเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกัน หรือใช้อุปกรณ์ร่วมกัน เช่น ใช้ Printer หรือ CD-Rom ร่วมกัน เราเรียกพฤติกรรมของคอมพิวเตอร์ลักษณะนี้ว่า เครือข่าย (Network) ซึ่งเมื่อมีจำนวนคอมพิวเตอร์ในเครือข่ายมากขึ้น และมีการเชื่อมโยงกันไปทั่วโลก จนกลายเป็นเครือข่ายขนาดใหญ่ เราเรียกสิ่งนี้ว่า อินเตอร์เน็ต นั่นเอง

ประวัติอินเทอร์เน็ต
อินเตอร์เน็ตกำเนิดขึ้นเมื่อประมาณปี ค.ศ.1969 หรือประมาณปี พ.ศ. 2512 โดยพัฒนามาจาก อาร์พาเน็ต (ARPAnet) ซึ่งเป็นเครือข่ายคอมพิวเตอร์ภายใต้ความรับผิดชอบของหน่วยงานโครงการวิจัยขั้นสูง (Advanced Research Projects Agency) หรือเรียกชื่อย่อว่า อาร์พา (ARPA) ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงกลาโหมของสหรัฐอเมริกา (Department of Defense) จุดประสงค์ของโครงการอาร์พาเน็ต เพื่อสร้างเครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่คงความสามารถในการติดต่อสื่อสารถึงกันได้ แม้ว่าจะมีบางส่วนของเครือข่ายไม่สามารถทำงานได้ก็ตาม

อาร์พาทำหน้าที่สนับสนุนงานวิจัยพื้นฐานทั้งทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยให้ทุนสนับสนุนแก่หน่วยงานอื่นๆ เช่น มหาวิทยาลัย และบริษัทเอกชนที่ทำการวิจัยและพัฒนาในเดือนกันยายน พ.ศ. 2512 (ค.ศ.1969) โครงการอาร์พาเน็ต ได้ริเริ่มโดยเชื่อมต่อเครื่องคอมพิวเตอร์ระหว่างสถาบัน 4 แห่ง คือ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียที่ลอสแอนเจลิส, มาหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียที่ซานตา บาร์บารา, มหาวิทยาลัยยูทาห์ และสถาบันวิจัยสแตนฟอร์ด ซึ่งเครื่องคอมพิวเตอร์จากสถาบันทั้ง 4 แห่งนี้ เป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ต่างชนิดกันและใช้ระบบปฏิบัติการที่แตกต่างกัน

ในปี พ.ศ.2528 (ค.ศ.1985) มูลนิธิวิทยาศาสตร์แห่งชาติอเมริกา (National Science Foundation หรือ NSF) ได้ให้เงินทุนสร้างคอมพิวเตอร์ 6 แห่ง และใช้ชื่อว่า NSFnet ต่อมาในปี พ.ศ. 2533 (ค.ศ.1990) อาร์พาเน็ตไม่สามารถที่จะรองรับภาระที่เป็นโครงข่ายหลัก (backbone) ของระบบได้ อาร์พาเน็ตจึงยุติลง และเปลี่ยนไปใช้ NSFnet และเครือข่ายอื่นๆ แทนมาจนเป็นเครือข่ายขนาดใหญ่ จนกระทั่งในปัจจุบัน โดยเรียกเครือข่ายว่า อินเทอร์เน็ต(http://www.skn.ac.th/a_cd/internet/history.html)

ปัจจุบันมีหน่วยงานและบริษัทธุรกิจจำนวนมากที่ให้บริการด้านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ซึ่งประกอบไปด้วยเครือข่ายโทรศัพท์ เครือข่ายการสื่อสารดาวเทียม และหน่วยงานรัฐบาลต่างก็ให้ความร่วมมือในการพัฒนาโครงข่ายเครือข่ายอินเทอร์เน็ต และทั้งๆ ที่เครือข่ายอินเทอร์เน็ตเติบโตอย่างรวมเร็วก็ตาม อินเทอร์เน็ตก็ยังคงเป็นเครือข่ายสาธารณะและเครือข่ายของความร่วมมือ ไม่มีบุคคล นิติบุคคล หรือองค์การ หน่วยงาน รัฐบาลใดเป็นเจ่าของแต่เพียงผู้เดียว อย่างไรก็ตามได้มีองค์กรที่ทำหน้าที่ในการกำหนดมาตรฐานและดูแลการใช้งานเครือข่ายอินเทอร์เน็ตร่วมกัน หน่วยงานนั้นคือ World wide Web Consortium หรือเรียกย่อๆ ว่า W3C)
นอกจากเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่เป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปแล้ว ยังมีเครือข่ายที่เรียกว่าอินเทอร์เน็ตทู (Internet2 หรือI2) ซึ่งเป็นเครือข่ายที่ดำเนินการโดยไม่หวังผลกำไร แต่มีวัตถุประสงค์ด้านการวิจัยและพัฒนาทางเทคโนโลยีและการเรียนการสอน สมาชิกของ I2 ประกอบด้วยมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกามากกว่า 180 แห่ง และบริษัทเอกชนมากกว่า 60 บริษัท (Shelly et al.,2002)


อินเทอร์เน็ตในไทย

ประเทศไทยได้ติดต่อกับอินเทอร์เน็ตในลักษณะการใช้บริการไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-mail) โดยในปี พ.ศ. 2530 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ และสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (Asian Institute of Technology หรือ AIT) ได้ติดต่อขอใช้บริการจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ไปยังมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น โดยความร่วมมือระหว่างไทยและออสเตรเลียตามโครงการ IDP ซึ่งการเชื่อมโยงในขณะนั้นจะใช้สายโทรศัพท์ ซึ่งส่งข้อมูลได้ช้าและไม่เป็นการถาวร

ต่อมาในปี พ.ศ. 2535 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้จัดตั้งเครือข่ายเพื่อเชื่อมโยงเข้ากับเครือข่ายยูยูเน็ต (UUNET) ของบริษัทยูยูเน็ตเทคโนโลยี จำกัด (UUNET Technology Co., Ltd.) ซึ่งตั้งอยู่ที่รัฐเวอร์จิเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา และในปีเดียวกันนี้ สถาบันการศึกษาหลายแห่ง เช่น สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง และมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ได้ขอเชื่อมต่อเข้ากับเครือข่ายของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรียกเครือข่ายนี้ว่า เครือข่ายไทยเน็ต (THAINET)

ในปีเดียวกันศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (National Electronics and Computer Technology Center หรือ NECTEC) ได้จัดตั้งเครือข่ายไทยสาร (Thai Social/Scientific, Academic and Research Network หรือ ThaiSARN) ซึ่งต่อมาได้ต่อกับเครือข่ายยูยูเน็ต และปัจจุบันไทยสารได้เชื่อมโยงกับสถาบันต่างๆ ดังรูป

















เหตุผลสำคัญที่ทำให้อินเตอร์เน็ตได้รับความนิยมแพร่หลาย
คือ
1. การสื่อสารบนอินเตอร์เน็ต ไม่จำกัดระบบปฏิบัติการของเครื่องคอมพิวเตอร์ คอมพิวเตอร์ที่ต่างระบบปฏิบัติการกันก็สามารถติดต่อสื่อสารกันได้ เช่น คอมพิวเตอร์ที่มีระบบปฏิบัติการแบบ Windows 95 สามารถสื่อสารกับคอมพิวเตอร์ที่มีระบบปฏิบัติการแบบ Macintosh ได้
2. อินเตอร์เน็ตไม่มีข้อจำกัดในเรื่องของระยะทาง ไม่ว่าจะอยู่ภายในอาคารเดียวกัน หรือห่างกันคนละทวีป ข้อมูลก็สามารถส่งผ่านถึงกันได้
3. อินเตอร์เน็ตไม่จำกัดรูปแบบของข้อมูล ซึ่งมีได้ทั้งข้อมูลที่เป็นข้อความอย่างเดียว หรืออาจมีภาพประกอบ รวมไปถึงข้อมูลชนิด มัลติมีเดีย คือมีทั้งภาพเคลื่อนไหวและมีเสียงประกอบด้วยได้
ด้วยเหตุผลดังกล่าวอินเทอร์เน็ตจึงได้รับความนิยมสูงขึ้นเรื่อยๆ ในแต่ละวันจึงมีผู้คนใช้อินเทอร์เน็ตทำกิจกรรมต่างๆ มากมายทั้งในเรื่องบริการสืบค้นข้อมูล แลกเปลี่ยนข่าวสาร สร้างเว็บบล็อกส่วนตัว บริการซื้อ-ขายสินค้าออนไลน์ สนทนาออนไลน์ ทำงานออนไลน์ และบริการความบันเทิงต่างๆ เช่น โหลดเพลง โหลดตัวอย่างหนัง เป็นต้น

ปัจจุบันอินเทอร์เน็ต ได้กลายมาเป็นส่วนสำคัญในชีวิตของมนุษย์ การขยายบริการเครือข่ายระบบอินเทอร์เน็ตทำให้ผู้คนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและติดต่อสื่อสารกันได้แทบทุกหนทุกแห่ง โลกจะอยู่ในยุคที่คอมพิวเตอร์แทรกซึมสู่วิถีชีวิตส่วนตัวและวิถีการทำงาน ผู้คนจะใช้อินเทอร์เน็ตทำงานแทน ใช้อำนวยความสะดวกสบายต่างๆ ในชีวิตประจำวัน รวมถึงกิจกรรมบันเทิงเพื่อการผักผ่อนหย่อนใจ นอกจากนี้อินเทอร์เน็ตยังส่งผลกระทบสำคัญในการพัฒนาไม่ว่าจะเป็นด้านสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง อีกด้วย

แนวโน้มของอินเทอร์เน็ตในอนาคต จะพัฒนาไปสู่การเป็น “
สรรพสิ่งอัจฉริยะ (Internet of Things)” เพื่อให้การพัฒนา เทคโนโลยีไปไกลถึงในระดับที่คำว่า Internet of Things (อินเตอร์เน็ตในสรรพสิ่ง) จำเป็นต้องบริหารจัดการ สร้างมาตรฐาน และ พัฒนาศักยภาพในด้านต่างๆ ของเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมที่เกี่ยวข้อง ให้เป็นระบบที่มีประสิทธิภาพ มีความปลอดภัยรวมศูนย์ และมีเครือข่ายการสื่อสารครอบคลุมทั่วทั้งโลก มาตรฐานที่ยั่งยืนควรได้รับการพัฒนา เพื่อให้ข้อมูลจำนวนมากมายมหาศาล สามารถแลกเปลี่ยนกันระหว่างสิ่งของกับสิ่งของ และผู้คนกับสิ่งของได้ รวมทั้งการเพิ่มขีดความสามารถของสิ่งของเครื่องใช้อัจฉริยะให้มีความทนทานต่อความรุนแรงของสิ่งแวดล้อมอันเลวร้าย แต่ยังสามารถปรับตัวได้อย่างอัตโนมัติ ฉลาด และน่าเชื่อถือ ที่สำคัญมากอีกประการหนึ่งคือ ระบบอินเทอร์เน็ตในอนาคตควรเป็นที่เชื่อมั่น มีความเป็นส่วนตัวและมีความปลอดภัยอีกด้วย

ในการพัฒนาประเทศ รัฐบาล บุคคลที่เกี่ยวข้องไม่ควรให้ความสำคัญเพียงแต่การพัฒนาด้านเทคโนโลยีเพียงเท่านั้น จำเป็นต้องให้ความรู้แก่ประชาชนให้กว้างขวาง ยิ่งมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันมากขึ้นเท่าไหร่ก็จะช่วยให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นในเทคโนโลยีใหม่ๆ มากกว่าจะเพิ่มความหวาดระแวง การเปิดประเด็นเพื่อการถกเถียงกัน ถึงคุณลักษณะของเทคโนโลยีระบบอินเทอร์เน็ตในอนาคตต่อสาธารณะชนทั่วไป จะเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญสำหรับความสำเร็จในการพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คน ลดช่องว่างในการเข้าถึงเทคโนโลยีและในอนาคตอินเทอร์เน็ตอาจสามารถช่วยลดผลกระทบต่อระบบนิเวศวิทยาของมนุษยชาติได้อีกทางหนึ่งด้วย

สำหรับประเทศไทยแนวโน้มการใช้อินเทอร์เน็ต จะมีการขยายตัวของการใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อการติดตามข่าวสารและข้อมูลรวมถึงการเรียนรู้ผ่านอินเทอร์เน็ตเพิ่มมากขึ้น ผ่านทางอุปกรณ์เคลื่อนที่พกพาที่รองรับการให้บริการข่าวออนไลน์และหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (e-Book) ที่หลากหลาย เช่น เครื่องอ่านอิเล็กทรอนิกส์ (e-Reader) สมาร์ตโฟน และพีดีโฟน เป็นต้น อันจะนำมาซึ่งการสร้างสรรค์เนื้อหาดิจิทัล จึงเป็นความท้าทายของทุกภาคส่วนในการเตรียมความพร้อมเชิงนโยบายและเชิงปฏิบัติ ในการกระตุ้นและพัฒนาให้เกิดการสร้างสรรค์เนื้อหาดิจิทัลและแอพพลิเคชั่นที่มีคุณภาพ รวมถึงแนวทางการกลั่นกรองความเหมาะสมของเนื้อหาดิจิทัล โดยไม่ให้กระทบต่อการแสดงความคิดเห็นอย่างเสรีของภาคประชาชน และให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนภายในประเทศ



เอกสารอ้างอิง


[1] ผศ. ดร. ศรีไพร ศักดิ์รุ่งพงศากุล เขียน ; เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และสารสนเทศ ; อินเทอร์เน็ต หน้า 35-58
[2] ประวัติอินเทอร์เน็ต ; http://www.satitm.chula.ac.th/computer/info/8/index.htm
[3] สถิติผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตทั่วโลก ปี 2552 ; http://www.richtopup.com/internetworldstats.php?i=
[4] เนคเทค รายงานผลการสำรวจกลุ่มผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ประจำปี 2552 ; http://www.nectec.or.th/index.php?option=com_content&view=article&catid=405&Itemid=405&id=405 ; 15 มกราคม 2553
[5] สถิติการเยี่ยมชมเว็บไซต์ในประเทศไทย ; http://www.nectec.or.th/index.php?option=com_content&view=article&catid=405&Itemid=405&id=405
[6] TOP 10 WEBSITES ; http://truehits.net/
[7] พ.อ.รศ.ดร. เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ และ นิธิมา เสริมสุธีอนุวัฒน์ เขียน ; บทความ แนวโน้มและการพัฒนาอินเทอร์เน็ตในอนาคต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น